logo-ราชวิลัยรังสีแพท

รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

RADIOLOGICAL SOCIETY OF THAILAND

จำนวนสมาชิกปัจจุบัน

radiologythailand member

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่

อะไรคือ เครื่องแมมโมกราฟฟี่ (Mammography)

แมมโมกราฟฟี่ (Mammography) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้สร้างภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมโดยใช้รังสีเอ็กซ์ขนาดกำลังต่ำ การตรวจแมมโมกราฟฟี่หรือที่เรียกกันว่า แมมโมแกรม นั้นเป็นการตรวจเพื่อหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดมากที่สุด

ปัจจุบันมี 3 เทคโนโลยีใหม่ของ แมมโมกราฟฟี่ที่ควรทราบคือ

  1. Digital mammography หรือ Full-filed digital mammogram (FFDM) 
    เป็นเครื่องตรวจเอ็กซเรย์แมมโมกราฟฟี่ที่ ฟิล์ม ถูกแทนที่ด้วยแผงอิเล็คโทรนิคที่ช่วยในการสร้างภาพบนจอคอมพิวเตอร์ เหมือนกับการแทนที่ฟิล์มในกล้องถ่ายภาพด้วยระบบอิเลคโทรนิค ซึ่งการแทนที่ฟิล์มด้วยระบบอิเลคโทรนิคนี้ทำให้สามารถสร้างภาพที่ชัดเจนขึ้นโดยใช้ปริมาณรังสีลดลง รังสีแพทย์จะแปลผลภาพอิเลคโทรนิคของเต้านมเหล่านี้จากจอคอมพิวเตอร์ และเก็บไว้ใช้เปรียบเทียบในระยะยาวต่อไปได้ การตรวจด้วยวิธีนี้ผู้รับการตรวจจะไม่รู้สึกแตกต่างจากการการตรวจด้วยเครื่องชนิดที่ใช้ฟิล์ม (Conventional film mammogram)
  2. ระบบ Computer-aided detection (CAD system)
    ใช้ร่วมกับ Digital mammography เพื่อหาบริเวณที่สงสัยว่าอาจจะผิดปกติ ระบบจะช่วย highlight บริเวณเหล่านี้เพื่อให้รังสีแพทย์ทำการแปลผลอย่างระมัดระวังเพิ่มขึ้นในบริเวณเหล่านี้
  3. Breast tomosynthesis
    หรืออาจเรียกว่า  Three dimensional (3-D) mammography และ Digital breast tomosynthesis (DBT) เป็นเครื่องที่สร้างภาพเต้านมจากการตรวจเต้านมในหลายมุม และนำภาพเหล่านั้นมารวบรวมขึ้นเป็นภาพเนื้อเยื่อเต้านมในรูปแบบ 3-D ถึงแม่ว่า การตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องใช้ปริมารรังสีสูงกว่าการตรวจด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่ปกติ แต่ปริมาณรังสีไม่เกินกว่าปริมาณที่อนุญาตโดยสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาในกลุ่มประชากรจำนวนมากพบว่าการตรวจคัดกรอง (Screening) ด้วย Breast tomosynthesis เพิ่มอัตราการพบมะเร็งระยะเริ่มต้นและลดการที่ตรวจเพิ่มเติม

แมมโมกราฟฟี่ใช้ตรวจอะไรบ้าง

การตรวจด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่แบ่งได้คร่าวๆ 2 แบบ

  1. การตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ (Screening)
  2. การตรวจในผู้ที่มีอาการ (Diagnosis) เช่นคลำก้อนได้ที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนม (เลือด,หนอง)

Screening mammography

เป็นการตรวจที่สำคัญในการคัดกรองหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น เพราะมะเร็งบางชนิดอาจใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อเต้านมเป็น ปีหรือ 2 ปีก่อนที่ผู้ป่วยหรือแพทย์จะสามารถคลำส่วนที่ผิดปกตินี้ได้ ล่าสุดวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา  แนะนำให้เริ่มทำการตรวจ screening mammogram  ปีละครั้งเมื่อสตรีมีอายุ 40 ปีขึ้นไป สำหรับผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีความเสี่ยงสูงเช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรรับการตรวจก่อนอายุ 40 ปีหรือไม่ หรือควรตรวจอะไรเพิ่มเติม เช่น Breast MRI

Diagnostic Mammography

เป็นการตรวจเพื่อใช้ประเมินผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่นคลำพบก้อน หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนม การตรวจนี้มักเป็นการตรวจเพิ่มเติมเมื่อพบความผิดปกติจาก Screening mammogram

ผู้รับการตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร

  1. ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ส่งตรวจหรือรังสีแพทย์ทราบถึงอาการหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดกับเต้านม ประวัติการผ่าตัด ประวัติการใช้ฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด
  2. ไม่ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงใกล้กับการมีประจำเดือน เพราะเต้านมอาจตึงเจ็บกว่าปกติ ช่วงที่ดีที่สุดคือ 1 สัปดาห์หลังหมดประจำเดือนในวันตรวจ
  3. ไม่ควรใช้เครื่องสำอางค์ แป้ง หรือโลชั่น ทาบริเวณเต้านมหรือ ใต้วงแขน เพราะอาจทำให้เหมือนมีจุดผิดปกติในภาพได้
  4. ถ้ามีฟิล์มเก่าหรือข้อมูลอิเลคโทรนิคในการตรวจครั้งก่อนซึ่งมักมาในรูป CD ให้นำไปให้รังสีแพทย์ผู้ทำการแปลผลใช้เพื่อการเปรียบเทียบด้วย
  5. ไม่ควรเร่งขอผลตรวจ เพื่อรังสีแพทย์จะได้มีเวลาในการแปลผลและเปรียบเทียบ
  6. ควรติดตามผลด้วยตนเองเพื่อให้ทราบว่าปกติหรือผิดปกติ การไม่ได้รับผลไม่ได้หมายความว่าผลปกติ

เครื่องตรวจหน้าตาเป็นอย่างไร

เครื่องแมมโมแกรมมีส่วนที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมซึ่งใส่หลอดเอ็กซเรย์ และมีส่วนประกอบที่ช่วยให้รังสีผ่านเฉพาะเต้านมที่ทำการตรวจ เป็นเครื่องที่สร้างมาเพื่อใช้ตรวจเฉพาะเต้านมเท่านั้น โดยจะมีแผ่นรองรับเต้านมและกดเนื้อเต้านมในมุมต่างๆเพื่อการถ่ายภาพ การตรวจ Breast tomosynthesis  ต้องใช้เครื่อง Digital mammography เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกเครื่อง Digital mammography จะสามารถตรวจด้วยวิธี tomosynthesis ได้

เครื่องทำงานอย่างไร

เครื่องจะให้กำเนิดรังสีเอ็กซ์ในขนาดที่พอเหมาะ ผ่านอวัยวะที่จะทำการตรวจ รังสีที่ผ่านจะถูกเก็บไว้ในแผ่นรับรังสีซึ่งจะได้รับการแปลเป็นภาพผ่านระบบคอมพิวเตอร์ให้แพทย์แปลผลอีกครั้งหนึ่ง ในอดีตแผ่นรับรังสีเป็นแผ่นฟิล์มแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นแผ่นรับรังสีที่เป็นระบบอิเลคโทรนิคแทน แต่แผ่นฟิล์มก็ยังคงใช้อยู่

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่ทำอย่างไร

เป็นการตรวจที่ไม่ต้องเข้าพักในโรงพยาบาล (ตรวจแบบผู้ป่วยนอก) เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่ผ่านการอบรมเฉพาะจะเป็นผู้ทำการถ่ายภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการจัดตำแหน่งของเต้านมให้พอเหมาะที่แผ่นรองรับที่ตัวเครื่องและใช้แผ่นใสแข็งอีกแผ่นค่อยๆกดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อแผ่ออก และไม่ขยับระหว่างทำการถ่ายภาพ

การกดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อแผ่ออกมีความสำคัญเพื่อ

  • ทำให้เนื้อเยื่อแผ่ออกเท่าๆกันมองเห็นได้ใกล้เคียงกันจากภาพถ่าย
  • จุดผิดปกติเล็กๆจะได้ไม่ถูกบังโดยเนื้อเยื่อที่ซ้อนทับกัน
  • ทำให้สามารถใช้รังสีจำนวนน้อยลงเนื่องจากเนื้อเยื่อบางลงและลดการสะท้อนของรังสีในเนื้อเยื่อ
  • ทำให้เต้านมอยู่นิ่งไม่ขยับ ภาพชัดเจนขึ้น

ระหว่างการตรวจ เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคจะทำการถ่ายภาพในหลายท่าของเต้านมทั้ง 2 ข้าง ซึ่งในขณะทำการถ่ายภาพ ผู้รับการตรวจจะต้องอยู่นิ่งและกลั้นหายใจเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อให้ภาพคมชัด ในระหว่างการถ่ายภาพเจ้าหน้าที่จะเดินไปที่เครื่องที่อยู่ใกล้ๆ โดยผู้รับการตรวจจำเป็นต้องอยู่นิ่งในขณะนั้น หลังจากถ่ายภาพเสร็จ ผู้รับการตรวจควรรอเพื่อให้รังสีแพทย์ตรวจภาพขั้นต้นก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าพอเพียงสำหรับการแปลผล ขั้นตอนทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที

หลังการตรวจจะรู้สึกอย่างไร

ผู้รับการตรวจอาจจะรู้สึกตึงหลังจากการถูกกดภายหลังการตรวจ ผู้หญิงที่มีความรู้สึกไวที่เต้านมอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายมากกว่าคนอื่นๆ จึงควรแน่ใจว่าไปรับการตรวจในช่วงที่เต้านมไม่เจ๊บตึง รวมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ระหว่างการตรวจถ้ารู้สึกตึงหรือเจ็บเกินไป แต่ถ้าสามารถอดทนได้การกดเนื้อเยื่อเต้านมที่เหมาะสมจะให้ภาพการตรวจที่ดีกว่า

ใครแปลผลภาพและผู้รับการตรวจจะทราบผลได้อย่างไร
รังสีแพทย์จะเป็นผู้แปลผลและส่งผลให้แพทย์ผู้ดูแลหรือแพทย์ผู้ส่งตรวจที่จะทำการอธิบายผลให้ผู้รับการตรวจได้ทราบ ในบางกรณีอาจต้องมีการตรวจติดตามผลเร็วกว่าปีละครั้งซึ่งแพทย์จะอธิบายเหตุผลให้ทราบ

การตรวจมีข้อดีหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง

ข้อดี

  • สามารถตรวจพบเนื้องอกหรือความผิดปกติขนาดเล็กได้
  • มักตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แพร่กระจาย
  • ไม่มีรังสีค้างในตัวของผู้ป่วย
  • ไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจ

ความเสี่ยง

  • การใช้รังสีในการตรวจมีความเสี่ยงเล็กน้อยจากการเกิดมะเร็งจากรังสี แต่ในปริมาณรังสีที่พอเหมาะ การตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้นมีความคุ้มค่ามากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็ง
  • การแปลผลมีโอกาสให้ผลบวกที่ไม่ถูกต้องได้ (False positive) ประมาณ 5-15% ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆเช่นเครื่องแมมโมกราฟฟี่เองหรือเครื่อง อัลตราซาวน์ (การตรวจด้วยคลื่นเสียง) หรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งให้ผลลบคือไม่ผิดปกติได้
  • เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีการใช้รังสี จึงต้องระมัดระวังในผุ้ป่วยที่มีการตั้งครรภ์ ถ้าผู้รับการตรวจสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนรับการตรวจ

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่มีข้อจำกัดอะไรหรือไม่

  • ในสตรีที่เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นสูง จะทำให้การแปลผลยาก และจะทำให้มองเห็นจุดผิดปกติยากเช่นกัน
  • ผุ้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเสริมเต้านมจะลดความถูกต้องในการแปลผล เพราะอาจมีเนื้อเยื่อบางส่วนที่ถูกบังเนื่องจากรังสีไม่สามารถผ่านวัสดุที่ใช้เสริมเต้านมได้มากพอ การให้ประวัติการผ่าตัดเสริมเต้านมกับเจ้าหน้าที่จะช่วยให้การตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น
  • มะเร็งเต้านมบางชนิดอาจไม่แสดงให้เห็นชัดเจนในการตรวจแมมโมแกรม หรือแม้แต่ให้ภาพที่แปลผลเป็นปกติทั้งๆที่มีมะเร็งอยู่ได้ (False negative)

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่ 1

ข้อมูลจาก www.radiologyinfo.org

ปรึกษาปัญหา

  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ  กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข 268/1 ถนนพระราม 6  ราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400โทร. 02-354-7025, 02-354-7028-35 E-mail :[email protected] Website : www.nci.go.th
  • สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 Email : [email protected] Website : www.chulacancer.net โทร. 02-256-4334

จัดเตรียมโดย พญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ, มีนาคม 2559