logo-ราชวิลัยรังสีแพท

รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

RADIOLOGICAL SOCIETY OF THAILAND

จำนวนสมาชิกปัจจุบัน

radiologythailand member

เครื่องมือทางรังสีวิทยา

เมื่อกล่าวถึงแผนกรังสีวิทยา คนทั่วไปอาจนึกถึงภาพเอกซเรย์ปอดที่เคยถ่ายตอนตรวจสุขภาพประจำปี หรือสัญลักษณ์รังสีรูปใบพัดซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่กำหนดขึ้นเพื่อเตือนให้ทราบว่ามีรังสีหรือให้ระวังรังสี ซึ่งรังสีที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ได้แก่รังสีเอกซ์ แผนกรังสีวิทยาแต่เดิมจึงมักมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแผนกเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม นอกจากรังสีเอกซ์แล้ว ในทางการแพทย์ปัจจุบันซึ่งมีการแบ่งสาขาของวิชารังสีวิทยาออกเป็น ๓​ สาขา ได้แก่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา(และมะเร็งวิทยา) และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ยังมีการใช้รังสีชนิดอื่น หรือคลื่นพลังงานอย่างอื่นมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคด้วย เช่น รังสีแกมมา รังสีบีตา รังสีแอลฟา คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

เครื่องมือทางรังสีวิทยา จึงไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้หรือให้กำเนิดรังสีเอกซ์เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องมืออีกหลายประเภทที่ถือเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา ซึ่งอาจแบ่งตามสาขาวิชา ๓ สาขาได้ดังนี้

1. รังสีวินิจฉัย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ใช้รังสีเอกซ์ ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป (General X-ray Machine) เครื่องเอกซเรย์ฟัน (Dental X-ray Machine) เครื่องเอกซเรย์เต้านม (X-ray Mammography) เครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือด (Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Machine) เครื่องส่องตรวจทางรังสี (Fluoroscopy X-ray Machine)

เครื่องมือที่ไม่ได้ใช้รังสีเอกซ์ ได้แก่ เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Diagnostic Ultrasound Machine) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI-Magnetic Resonance Imaging Machine)

2. รังสีรักษา ได้แก่ เครื่องฉายเอกซเรย์ชนิดตื้นและชนิดลึก (Superficial and Orthovoltage or Deep X-ray Therapy Machine) เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ (Cobalt-60 Teletherapy Machine) เครื่องเร่งอนุภาคที่ผลิตเฉพาะโฟตอนพลังงานไม่เกิน ๖ MV (Low Energy Medical Linear Accelerator) เครื่องเร่งอนุภาคที่ผลิตเฉพาะโฟตอนพลังงานมากกว่า ๖ MV หรือผลิตลำอิเล็กตรอนร่วมด้วย (High Energy Medical Linear Accelerator) เครื่องฉายรังสีแกมมาไนฟ์ (Gamma Knife Machine) เครื่องฉายรังสีไซเบอร์ไนฟ์ (Cyber Knife Machine) เครื่องจำลองการรักษาแบบทั่วไป (Conventional Simulator) เครื่องจำลองการรักษาแบบคอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Simulator)  เครื่องสอดใส่สารกัมมันตรังสีชนิดอัตราปริมาณรังสีต่ำ และชนิดอัตราปริมาณรังสีสูง (Low Dose Rate and High Dose Rate Remote Control After Loading Brachytherapy System)

3. เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้แก่ เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometer)  เครื่อง สอบเทียบความแรงของสารกัมมันตรังสี (Dose Calibrator) เครื่องนับวัดปริมาณรังสี (Radiation Counter) เครื่องถ่ายภาพรังสีชนิดแถว (Rectilinear Scanner) เครื่องถ่ายภาพรังสีแกมมา (Gamma Camera) เครื่อง ถ่ายภาพรังสีแกมมาหลายระนาบ (Single Photon Emission Computed Tomography-SPECT) เครื่องถ่าย ภาพรังสีจากอนุภาคโพสิตรอนหลายระนาบ (Positron Emission Tomography-PET)       

อนึ่ง การเรียกชื่อเครื่องมือหรืออุปกรณ์แต่ละประเภท อาจมีความแตกต่างในแต่ละสถานที่หรือสถาบัน เช่น Magnetic Resonance Imaging Machine มีผู้ใช้ทั้งเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องตรวจด้วย สนามแม่เหล็กแรงสูง เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่องตรวจวินิจฉัยพลังแม่เหล็ก ชื่อที่กล่าวถึงในบทความนี้อ้างอิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งถือเป็นเอกสารทางการเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้

เครื่องมือทางรังสีวิทยา 1

เอกสารอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา พ.ศ.๒๕๔๙ ราชกิจจานุเบกษา
ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๐๐ง วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ 

ข้อมูลและภาพโดย : พญ.กฤษณา ดิสนีเวทย์ 

บทความที่น่าสนใจ