logo-ราชวิลัยรังสีแพท

รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

RADIOLOGICAL SOCIETY OF THAILAND

จำนวนสมาชิกปัจจุบัน

RCRT Member No2844

แนวทางการตรวจทางรังสีวินิจฉัยในผู้ป่วยตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่ให้นมบุตร

แนวทางการตรวจทางรังสีวิทยาวินิจฉัยในผู้ป่วยต้ังครรภ์ หรือสงสัยว่าต้ังครรภ์ และผู้ป่วยที่ให้นมบุตร โดย

  • ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย
  • รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
  • สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย
  • สมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ไทย

Download : แนวทางการตรวจทางรังสีวินิจฉัยในผู้ป่วยตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่ให้นมบุตร

แนวทางการตรวจทางรังสีวินิจฉัยในผู้ป่วยตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่ให้นมบุตร 1

การตรวจสอบค่าตัวเลขซีทีของน้ำและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

โอกาสพัฒนา มีทุกวัน แต่ละวัน ถอดบทเรียนชีวิต เปลี่ยนเป็นโอกาสพัฒนา ต่อไปได้นะ ครับ

ในปัจจุบันมีการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography ; CT) มาใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจที่มีการฉายรังสีเอกซ์อย่างต่อเนื่องและใช้รังสีในปริมาณที่สูงกว่าการถ่ายภาพรังสีทั่วไป (general x-ray) 

ดังนั้น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพหรือประเมินคุณภาพตามระยะเวลาที่กำหนดหรือหลังจากการซ่อมแซม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เครื่องที่ใช้งานอยู่นั้น มีคุณภาพดี เหมาะสำหรับกับการนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัย

ซึ่งต่อไปนี้ จะกล่าวถึงขั้นตอน วิธีการการตรวจสอบคุณภาพตามแนวทางของ วิทยาลัยรังสีวิทยาของอเมริกัน(American College of Radiology ; ACR 2017 Computed Tomography) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย พ.ศ.2550

การตรวจสอบค่าตัวเลขซีทีของน้ำและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินค่าตัวเลขซีทีของน้ำและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากหุ่นจำลองน้ำ

ประเภทการตรวจสอบ ประจำวัน

อุปกรณ์

  1. หุ่นจำลองน้ำ จากบริษัทผู้ผลิต
  2. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่ใช้งาน

วิธีการดำเนินการ

  1. ก่อนการตรวจสอบ ควรทำ Tube warm หรือ Air calibration
  2. ติดตั้งและจัดวางหุ่นจำลองน้ำ ณ จุดกึ่งกลางแกนตรี ให้อยู่ในระดับและระนาบที่เหมาะสม (โดยใช้เครื่องวัดระดับน้ำ ช่วยตรวจสอบในระหว่างการจัดวางหุ่นจำลอง)
  3. ทำการสแกนหุ่นจำลอง เริ่มด้วย
    1. สแกน ภาพบอกตำแหน่ง (Scout image, Surview หรือ Topogram) เพื่อใช้กำหนดตำแหน่งในการสแกนภาพตัดขวาง
    2. สแกน ตรงกลางหุ่นจำลองน้ำ โดยใช้โปรโตคอล (protocol) การสแกนตามที่บริษัทกำหนด  (หรือที่หน่วยงานใช้บ่อย) ควรสแกนทั้ง axial และ helical mode (ถ้าทำได้) กรณีต้องการเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงาน อาจทำการสแกนเพิ่ม โดยการเปลี่ยนขนาด ของ slice thickness เช่น 1, 2, 5, 10 mm เป็นต้น
 
การตรวจสอบค่าตัวเลขซีทีของน้ำและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2

เกณฑ์ที่พิจารณา

  1. เมื่อได้ภาพตัดขวางซีทีของหุ่นจำลองน้ำแล้ว ให้เลือกไอคอน ROI รูปวงกลม ขนาดประมาณ 400 mm2 นำมาวางที่ตำแหน่งจุดกึ่งกลางของภาพหุ่นจำลองน้ำ    แล้วบันทึกค่าเฉลี่ยตัวเลขเลขซีทีและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
  2. ค่าเฉลี่ยตัวเลขซีทีที่ได้ เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ควรมีค่าที่แตกต่างไม่เกิน 0+3 HU (ACR 2017) (ถ้าใช้ ACR phantom กำหนดอยู่ในช่วง 0+5 หรือ 0+7 เนื่องจากชนิดของน้ำที่อยู่ในแบบจำลอง และเทคนิคของเครื่องที่ใช้งานมีความแตกต่างกัน) 0+4 HU (กรมวิทย์ฯ 2550)
  3. ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานตัวเลขซีทีน้ำที่ได้ ใช้เป็นตัวแทนบ่งบอกสัญญาณรบกวน (noise) ในการประเมิน มีคำแนะนำให้รวบรวมข้อมูลจากการประเมิน จำนวน 10 วัน (หรือมากกว่า) (ACR 2017) โดยนำค่าที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย เพื่อเก็บค่าที่ได้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้น ต่อไป
  4. หากพบว่า ค่าที่ได้มีค่าเกินเกณฑ์ที่กำหนด ควรทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง ถ้าค่ายังเกินเกณฑ์ ควรพิจารณาทำการ calibration หรือ ให้ช่างผีรับผิดชอบ ตรวจสอบหรือปรับแก้ไข

หากเก็บข้อมูล การตรวจสอบ ประเมินคุณภาพด้วยวิธีการนี้ อย่างต่อเนื่อ สามารถนำข้อมูลมาศึกษา นำไปสู่การทำงานประจำในรูปแบบงานวิจัย ได้นะครับ

ตัวอย่าง

การตรวจสอบค่าตัวเลขซีทีของน้ำและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3

โอกาสพัฒนา มีทุกวัน

แต่ละวัน ถอดบทเรียนชีวิต เปลี่ยนเป็นโอกาสพัฒนา ต่อไปได้นะ ครับ

CR : https://www.gotoknow.org/posts/677616

มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม?

infographic มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 3 รูปแบบ

การให้ข้อมูล ให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้ป่วย แก่ผู้บริการ มีความสำคัญ

วันนี้ ขอนำเสนอ

รูปแบบการให้ข้อมูลผู้ป่วย ผู้รับบริการ แบบโปสเตอร์ infographic

เรื่อง มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม?

เนื้อหา ใกล้เคียงกัน รูปแบบคล้ายๆกัน 3 รูปแบบ

ชอบแบบไหน ก็ นำไปใช้ได้

โอกาสพัฒนา มีทุกวัน ครับ

 
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 4
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 5
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 6

สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

  การกระทำสิ่งใดคนเดียว ย่อมไม่ดีเท่ากับการช่วยกันคิดช่วยกันทำ 

สำนวน สุภาษิตไทย ที่ว่า…

สองหัวดีกว่าหัวเดียว หรือ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว

หมายถึง การกระทำสิ่งใดคนเดียว ย่อมไม่ดีเท่ากับการช่วยกันคิดช่วยกันทำ เมื่อนำสำนวนนี้ มาเปรียบเทียบกับเครื่องซีที หรือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography; CT) จะได้แนวคิดในการพัฒนาเครื่องซีที จากเดิมมี อุปกรณ์รับภาพแถวเดียว (single detector) มาพัฒนาเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รุ่นใหม่ คือ  มัลติสไลด์ซีที (Multi slice CT) หรือ Multi detectors CT  ที่มีการพัฒนา โดยการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์รับรังสี (detectors) ให้มีจำนวนที่มากขึ้น จาก 1 แถว เป็น 2 แถว และ จาก 2 แถว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เพิ่ม เป็น 4,8,16,32,64,128 แถว

 
สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 7

ภาพนี้ เครื่องซีที ชนิด อุปกรณ์รับรังสี จำนวน 1 แถว (ภาพบน) และ เครื่องซีที ชนิดที่มีอุปกรณ์รับรังสี จำนวน 4 แถว (ภาพล่าง)

จำนวนอุปกรณ์รับรังสีที่มีมากขึ้น สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียดเล็กๆได้ดี บางครั้ง ในการใช้งาน อาจมีคำสั่งให้รวมข้อมูลจากอุปกรณ์รับรังสีแต่ละชิ้น คล้ายๆ สำนวน สองหัวดีกว่าหัวเดียว หรือ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากอุปกรณ์รับรังสีแต่ละชิ้นมารวมกัน แล้วสร้างเป็นภาพใหม่ ทำให้ใช้เวลาในการตรวจที่สั้นลง ตรงกับความหมาย การกระทำสิ่งใดคนเดียว ย่อมไม่ดีเท่ากับการช่วยกันคิดช่วยกันทำ

 
สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 8

ภาพนี้ เครื่องซีที ชนิดมัลติสไลด์

ภาพด้านซ้ายมือ

สร้างภาพ 4 ภาพ โดยใช้ข้อมูล จำนวน 4 แถว แต่ละแถว มีขนาดอุปกรณ์รับรังสี ขนาด 0.6 มิลลิเมตร (mm) สร้างภาพขนาด 0.6 mm ครอบคลุมพื้นที่ในการตรวจทั้งหมด เท่ากับ 0.6 x 4 = 2.4 mm

ภาพด้านขวามมือ

สร้างภาพ 4 ภาพ โดยใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์รับรังสี จำนวน 8 แถว  โดยนำข้อมูลจากอุปกรณ์รับรังสี ขนาด 0.6 mm จำนวน 2 แถว มารวมกันสร้างเป็นภาพ 1 ภาพ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น คือ ขนาด 1.2 mm (0.6+0.6 = 1.2 mm) ครอบคลุมพื้นที่ในการตรวจทั้งหมด เท่ากับ 1.2 x 4 = 4.8 mm เมื่อทำแบบนี้ ทำให้ตรวจพื้นที่ได้กว้างมากขึ้น ส่งผลให้ ใช้ระยะเวลาในการตรวจที่สั้นลง

เปรียบเทียบ แบบ 1 แถว

0.6 mm x 4 = 2.4 mm ใช้เวลาฉายรังสี 1 วินาที ถ้า ต้องการพื้น ที่ 4.8 mm ต้องใช้เวลาฉายรังสี 2 วินาที

แบบ หลายแถว

เมื่อรวมข้อมูล โดยใช้ 0.6+0.6 คือ 1.2 mm x 4 = 4.8 mm ใช้เวลาฉายรังสี เพียง 1 วินาที ตรงกับความหมาย หลายตัว ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รวมข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่กว้าง ใช้เวลาการตรวจสั้นลง แต่ละบริษัทผู้ผลิต เครื่องซีที ก็ จะมีการออกแบบ ขนาดอุปกรณ์รับรังสีที่มีขนาดที่แตกต่างกัน ทำให้มีรูปแบบในการรวมข้อมูลที่แตกต่างกัน

 
สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 9

รูปแบบการเปิดใช้งาน เพื่อใช้อุปกรณ์รับรังสี รับปริมาณรังสีในการตรวจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน

สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 10

ในการใช้งาน

นักรังสีเทคนิค นักรังสีการแพทย์ ต้องเลือก ใช้ขนาดอุปกรณ์รับรังสีให้สอดคล้องกับตำแหน่งหรืออวัยวะที่ทำการตรวจวินิจฉัย

สำนวนไทย กับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 11

จากที่นำเสนอ

จะเห็นได้ว่า…

อุปกรณ์รับรังสี จำนวนหลายแถว รับข้อมูลได้มากกว่าอุปกรณ์รับรังสีแถวเดียว หลายหัว(อุปกรณฺรับรังสี) คิดได้รวดเร็วมากกว่า หัวเดียว ข้อมูลกลุ่มใหญ่ สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ได้เพิ่มขึ้น (คล้ายๆ การสร้างภาพทางรังสีวินิจฉัยในรูปแบบต่างๆได้มากขึ้น)

ตรงกับสำนวน หลายหัว ดีกว่า หัวเดียว

ประโยชน์ของความรู้ คือ การนำมาใช้
เครื่องมือ เครื่องใช้ ในที่ทำงาน มั่นเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และ นำมาใช้ประโยชน์ เท่าที่จะทำได้ ประโยชน์จะเกิดกับผู้รับบริการ นะครับ

โอกาสพัฒนา มีทุกๆวัน ครับ

CR : https://www.gotoknow.org/posts/677527

118 ปี ที่ผ่านไป มีเรื่องราวที่ ชาวรังสีวิทยาสมาคม ทั้งรังสีแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ และ รังสีเทคนิค ต้อง ระลึกถึง

118 ปี ที่ผ่านไป มีเรื่องราวที่ ชาวรังสีวิทยาสมาคม ทั้งรังสีแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ และ รังสีเทคนิค ต้อง ระลึกถึง 12

ในบ่ายวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 เรินต์เกนตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทดสอบความคิดนี้ เขาได้บรรจงทำแผ่นกระดาษแข็งอย่างระมัดระวังให้เหมือนกับที่ใช้กับหลอดของเลนาร์ด โดยปิดหลอดฮิททอร์ฟ-ครูกส์ด้วยกระดาษแข็งแล้วต่อขั้วจากขดลวดเหนี่ยวนำของรุห์มคอร์ฟเพื่อสร้างประจุไฟฟ้าสถิตย์ แต่ก่อนที่เรินต์เกนจะตั้งจอที่ทาด้วยแบเรียมปลาติโนไซยาไนด์เพื่อทดสอบความคิด เขาได้ปิดม่านปิดไฟให้ห้องมืดลงเพื่อดูว่าแผ่นกระดาษแข็งปิดแสงได้มิดหรือไม่ ในขณะที่ปล่อยกระแสจากขดลวดเหนี่ยวนำขยับกระดาษแข็งให้แน่นแล้วหันไปเตรียมการขั้นถัดไป เรินต์เกนได้พบว่า ณ จุดนี้เองที่เกิดมีแสงเรืองๆ ขนาดอ่อนๆ ปรากฏที่ปลายโต๊ะที่ห่างออกไป 1 เมตร เพื่อให้แน่ใจ เรินต์เกนได้ปล่อยกระแสจากขดลวดเหนี่ยวนำอีกหลายครั้ง แสงเรืองๆ ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม เขาจุดไม้ขีดไฟดูจึงได้เห็นสิ่งที่อยู่ปลายโต๊ะนั้นแท้จริงก็คือแผ่นกระดาษแข็งทาสารแบเรียมฯ ที่เตรียมไว้สำหรับการทดลองขั้นต่อไปมั่นเอง

เรินต์เกนคาดเดาว่าสิ่งนี้อาจเกิดจากแสงชนิดใหม่ก็ได้ วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นวันศุกร์ เขาจึงถือโอกาสใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ทำการทดลองซ้ำและทำการบันทึกครั้งแรกไว้ ในหลายสัปดาห์ต่อมา เรินต์เกนกินและนอนในห้องทดลองเพื่อทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของแสงชนิดใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เขาจึงเรียกชื่อลำลองไปก่อนว่า “รังสี X” เนื่องจากต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์กับสิ่งที่ยังไม่รู้จักมาก่อน แม้ว่าจะมีผู้เรียกชื่อรังสีนี้ว่า “รังสีเรินต์เกน” เพื่อเป็นเกียรติ แต่ตังเรินต์เกนเองกลับจงใจใช้ชื่อว่า “รังสีเอกซ์” เรื่อยมา

การค้นพบรังสีเอกซ์ของเรินต์เกนไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือจากการทำงานตามลำพัง ในการเสาะแสวงหาคำตอบ เรินต์เกนและผู้คิดค้นในงานประเภทนี้ในหลายประเทศก็ได้ช่วยกันทำอยู่ การค้นพบเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างเห็นๆ กันอยู่แล้ว ความจริงแล้ว รังสีเอกซ์ได้ถูกสร้างขึ้นและเกิดรูปในฟิล์มแล้วที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 2 ปีก่อนหน้านั้น เพียงแต่ว่าคนที่ทดลองทำไม่ได้ตระหนักว่าตนเองได้ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่เข้าแล้ว จึงเก็บฟิล์มเข้าแฟ้มสำหรับใช้อ้างอิงในการทดลองอื่นๆ ในอนาคต ทำให้พลาดในการได้ชื่อว่าตนเป็นผู้ค้นพบสิ่งสำคัญที่สุดทางฟิสิกส์ ( ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

118 ปี ที่ผ่านไป มีเรื่องราวที่ ชาวรังสีวิทยาสมาคม ทั้งรังสีแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ และ รังสีเทคนิค ต้อง ระลึกถึง 13
118 ปี ที่ผ่านไป มีเรื่องราวที่ ชาวรังสีวิทยาสมาคม ทั้งรังสีแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ และ รังสีเทคนิค ต้อง ระลึกถึง 14

ตัวอย่าง ประโยชน์ จากการถ่าย Xray ได้ภาพรังสีทรวงอก ของผู้ป่วย ที่มาตรวจร่างกายประจำปี พบก้อนในทรวงอกด้านซ้าย

ในโอกาสวันดีเช่นนี้ รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หรือ รสท ขอแสดงความ ระลึกถึง ท่าน ศาสตราจารย์ วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน 

แสงที่ตามองเห็น (visible light) กับ รังสีเอกซ์ (x-ray)

  รังสีเอกซ์ ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยการฉายรังสีเอกซ์ที่มีอำนาจในการทะลุทะลวงผ่านเนื้อเยื่อ ในร่างกายไปกระทบกับอุปกรณ์รับภาพ แล้วผ่านขบวนการสร้างให้เป็น ภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่า… มีความจำเป็น ต้องใช้รังสี เพราะ แพทย์พิจารณาว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงภัยของรังสีที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย  

ท่านทราบหรือไม่? ว่า…

แสงที่ตามองเห็นกับรังสีเอกซ์

มีอะไรที่เหมือนกัน มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง ครับ

Download PDF

 
แสงที่ตามองเห็น (visible light) กับ รังสีเอกซ์ (x-ray) 15

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี

1. รังสี  (Radiation) คืออะไร

รังสี คือ พลังงานหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิด ซึ่งมีความถี่และความยาวคลี่นต่างๆกัน เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง  รังสีเอกซ์  รังสีแกมมา โดยมีการแบ่งหลายๆแบบตามลักษณะต่างๆกัน เช่น แบบที่มองเห็น และ มองไม่เห็น  แบบก่อประจุ และ ไม่ก่อประจุ   ซึ่งรังสีที่เราสัมผัสโดยทั่วไป  ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดรังสีจากธรรมชาติ และแหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น

  • รังสีจากธรรมชาติ ( Natural Radiation Sources ) ประมาณ 82%  โดยปกติก็มีรังสีโดยธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เช่น รังสี cosmic จากอวกาศ   รังสีจากสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ จากผิวดิน ถึง อากาศ  ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่จะมีปริมาณต่างๆกัน  
  • รังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man Made Radiation Sources)  ประมาณ18% เช่น รังสีทางการแพทย์ ( รังสีเอกซ์)  เวชศาสตร์นิวเคลียร์  จากเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น
  • อื่นๆ น้อยกว่า 1%
โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 16

2. การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (Diagnostic radiology, X-ray)

รังสีเอกช์  (X-ray)  เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และ เป็นแบบก่อประจุ (Ionizing radiation)  แต่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทะลุทะลวงผ่านวัตถุ รวมถึง อวัยวะต่างๆของร่างกายไม่เท่ากัน  ทำให้สามารถมองเห็นภาพของอวัยวะภายในได้ จึงนำมาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยทางการแพทย์

การตรวจวินิจฉัยทางรังสี อาทิเช่น เอกซเรย์ทั่วไป ( General X-ray) เอกซเรย์พิเศษ ( ระบบทางเดินอาหาร , ไขสันหลัง,ทางเดินปัสสาวะ) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT – Scan) จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคต่างๆได้  นอกจากนี้เอกชเรย์ ยังช่วยให้เห็นอวัยวะภายในเพื่อการวางท่อระบายต่างๆ  รวมทั้ง ใข้ในการร่วมรักษาทางหลอดเลือดต่างๆ (Intervention)

3. การวัดปริมาณทางรังสี (Measuring Radiation Dosage)

การวัดปริมาณทางรังสีนิยมใช้ค่า Effective dose หมายถึง ปริมาณรังสีที่อวัยวะต่างๆได้รับ มีหน่วยเป็น Millisievert (mSv)  นอกจากนี้ยังมีหน่วยวัดทางรังสีอื่นๆ เช่น  Rad, Rem, Roentgen, Gray เป็นต้น

เนื่องจากเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ มีความไวต่อรังสีได้แตกต่างกัน  ปริมาณรังสีสะสมในแต่ละส่วนของร่างกายจึงแตกต่างกัน   ในแง่ของ Effective dose ที่ใช้ จะแสดงถึงปริมาณรังสีเฉลี่ยของทั้งร่างกาย (average the entire body)

ค่า Effective dose จะช่วยเปรียบเทียบความไวต่อรังสีของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ    นอกจากนี้ยังใช้เป็นค่าเปรียบเทียบรังสีจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ รังสีตามธรรมชาติ (Natural background radiation) จนถึง รังสีทางการแพทย์(Radiography medical Procedure)  ตัวอย่างเช่น  เปรียบเทียบปริมาณรังสีในการเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง จะเทียบเท่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมประมาณ 10 วัน

4. Effective Radiation Dose ในผู้ใหญ่

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 17

* ปริมาณรังสีเป็นค่าเฉลี่ยในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจแตกต่างกัน ตามขนาดของร่างกาย และ เทคนิคการตรวจในแต่ละสถานที่

นอกจากนี้ ปริมาณรังสีในเด็ก จะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากขนาดของร่างกาย และ ความไวต่อรังสีไม่เท่ากัน

** ตารางอธิบายเพิ่มเติม

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 18

5. สรุป  โอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจากการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ถือว่าน้อยมาก  เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการวินิจฉัยโรค   แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงความจำเป็น และ ความสมเหตุสมผลในการส่งตรวจ  การควบคุมปริมาณรังสีและขอบเขตของรังสีระหว่างการตรวจ   การใช้ปริมาณรังสีให้ต่ำที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ตามหลักการ  ALARA (As Low As Reasonably Achievable)  นอกจากนี้ ควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ และ เด็ก

เอกสารอ้างอิง และ แนะนำอ่านเพิ่มเติม

  1. http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=safety-xray
  2. ICRP Publication 103: The 2007 Recommendations of the International Commission on Radiological Protection
  3. The American Association of Physicists in Medicine Response in Regards to CT Radiation Dose and its Effects

ข้อมูลและภาพโดย : พญ.อรอวรรณ อุตราวิสิทธิกุล

รังสีแพทย์คือใคร

รังสีแพทย์ (radiologist) เป็นแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านรังสีวิทยา เชี่ยวชาญในด้านการวินิจฉัยโรคโดยอาศัยภาพวินิจฉัย (imaging) เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพ็ท (PET) และการรักษาโรคโดยใช้ภาพวินิจฉัยนำทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เนื่องจากภาพวินิจฉัยบางชนิดใช้รังสีเอ็กซ์ในการสร้างภาพ ดังนั้น รังสีแพทย์จึงได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจและปรับใช้รังสีเอ็กซ์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากรังสีเอ็กซ์ด้วย

รังสีแพทย์จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เช่นเดียวกับแพทย์สาขาอื่นๆ ผ่านการฝึกปรือวิชาความรู้ในระบบสาธารณสุขในสถานพยาบาล 1-3 ปีก่อนเข้ามาเรียนต่อเฉพาะทางด้านรังสีวิทยาเป็นเวลาอีก 3 ปี เพื่อให้ได้รับวุฒิบัตรเชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัยหรือรังสีวิทยาทั่วไปจากแพทยสภา รวมแล้วใช้เวลาอย่างต่ำ 10 ปีกว่าจะเป็นรังสีแพทย์

รังสีแพทย์ส่วนหนึ่งยังศึกษาต่อยอดอีก 1-2 ปี เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรสาขาเฉพาะทางแนวลึก ซึ่งมีอยู่หลากหลายสาขา ล้วนได้รับการรับรองจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยหรือแพทยสภา

รังสีแพทย์ช่วยอะไรท่าน

  • เป็นที่ปรึกษาของแพทย์ที่ดูแลท่าน โดยรังสีแพทย์ช่วยแพทย์ที่ดูแลท่านตัดสินใจเลือกการตรวจภาพวินิจฉัยที่เหมาะสมสำหรับท่าน แปลผลภาพวินิจฉัยเพื่อให้ท่านได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำ
  • รักษาโรคโดยใช้เทคนิกภาพวินิจฉัยนำทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เรียกสาขานี้ว่า interventional radiology
  • เปรียบเทียบภาพวินิจฉัยกับการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิกอื่นๆ เพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำ
  • แนะนำวิธีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ และการรักษาที่อาจเหมาะสม ผ่านแพทย์ที่ดูแลท่าน
  • ควบคุมดูแลและตรวจสอบงานของนักรังสีการแพทย์ที่ถ่ายภาพวินิจฉัยของท่าน

รังสีแพทย์ได้รับการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ในการให้การวินิจฉัยโดยใช้ภาพวินิจฉัย

เวลาที่แพทย์ที่ดูแลท่าน บอกท่านว่าได้ตรวจดูภาพวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว เขามักหมายถึงว่าเขาได้ตรวจดูรายงานผลการตรวจภาพวินิจฉัย (radiology report) หรือได้ดูภาพร่วมกับรังสีแพทย์แล้ว

รังสีแพทย์เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพวินิจฉัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CT, MRI, PET และการตรวจภาพวินิจฉัยที่รวมหลายเทคนิกเข้าด้วยกัน เช่น PET-CT เป็นต้น นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญด้านการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การรักษาหลอดเลือดโป่งพอง มะเร็งบางชนิดและการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย

รังสีแพทย์ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา บ่งบอกถึงคุณภาพ ความสามารถและเชียวชาญในเนื้องานในระดับสูง

รังสีแพทย์คือใคร 19

ข้อมูลและภาพโดย : น.พ. รัฐชัย แก้วลาย หน่วยภาพวินิจฉัยฉุกเฉิน ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ

แนวทางการตรวจทางรังสีวิทยาในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน

พวกเรารังสีแพทย์ที่จบมาหลายปีแล้วทราบหรือไม่คะว่า แนวทางการตรวจทางรังสีวิทยาในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้วนะคะ

ที่เคยทราบกันมาแต่เดิมและมีในตำราทุกฉบับก็คือ vesicoureteral reflux เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ไตมีปัญหาในระยะยาว  ต้องส่งตรวจ voiding cystourethrography  และถ้าพบว่ามี vesicoureteral reflux ก็ต้องมีการรักษา โดยถ้า reflux เป็นระดับไม่รุนแรงก็ให้กินยาปฏิชีวนะแบบป้องกันการติดเชื้อ ถ้าเป็นระดับรุนแรงต้องผ่าตัด

ข้อมูลจากรายงานวิจัยในระยะหลังกลับพบว่า vesicoureteral reflux ที่ระดับ 1 ถึงระดับ 4 นั้น การให้ยาปฏิชีวนะระยะยาวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ได้ให้ผลดีกว่าการไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ จึงมีหลายสถาบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ลดการตรวจ voiding cystourethrography ลงในเด็กที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนที่มีผลการตรวจ ultrasound KUB ปกติ

ในปลายปี พ.ศ.2554 มีการตีพิมพ์ clinical practice guideline (CPG) ของกุมารแพทย์ ว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อครั้งแรกของทางเดินปัสสาวะส่วนบนในทารกและเด็กเล็กที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส (อายุช่วง 2 เดือนถึง 24 เดือน) CPG นี้ประกาศโดย American Academy of Pediatrics  เนื่องจากแพทย์ไทยส่วนใหญ่ศึกษาและใช้ guideline ตามของประเทศสหรัฐอเมริกา  ทำให้กุมารแพทย์ในประเทศไทยเปลี่ยนแนวทางการส่งตรวจทางรังสีวิทยาตาม CPG ของ American Academy of Pediatrics

Guideline ดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเมินความน่าจะเป็นว่าทารกมีไข้จากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนโอกาสมากหรือน้อย แล้วจึงจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะซึ่งต้องเป็นจากใส่สายสวนหรือใช้เข็มเจาะเหนือหัวเหน่าเข้ากระเพาะปัสสาวะ (ไม่ใช่ปิดถุงเก็บปัสสาวะที่ perineum) และจะให้การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน เมื่อผล urine analysis พบ pyuria หรือเมื่อ urine culture ได้เชื้อชนิดเดียวมากกว่า 50,000 colonies ต่อมิลลิลิตร

หลังจากวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนชัดเจนแล้ว แพทย์จึงส่งตรวจ ultrasound KUB เพื่อหาความผิดปกติทางกายวิภาคของทางเดินปัสสาวะที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ  ถ้าการตรวจ ultrasound ให้ผลปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจ voiding cystourethrography ในกรณีเป็นการติดเชื้อครั้งแรกของทางเดินปัสสาวะส่วนบน

แต่ถ้าผลการตรวจ ultrasound ผิดปกติ ได้แก่ พบ hydronephrosis  มีแผลเป็นที่ไต หรือพบความผิดปกติอื่นที่บ่งว่ามี vesicoureteral reflux ในระดับที่รุนแรง หรือในผู้ป่วยที่มีสภาพทางคลินิกที่ซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำและมีไข้ (recurrent febrile UTI) ก็จะส่งตรวจ voiding cystourethrography เพื่อตรวจหาและบอกระดับความรุนแรงของ vesicoureteral reflux เพื่อให้การรักษาต่อไป

สรุปคือ ทารกและเด็กเล็กอายุ 2 เดือนถึง 2 ปีที่มี febrile UTI เป็นครั้งแรก ให้ส่งตรวจ  ultrasound   ถ้าผล ultrasound ปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจ voiding cystourethrography  อ่านรายละเอียดของ guideline ได้จาก www.pediatrics.org/cgi/doi/10.1542/peds.2011-1330

สุดท้ายมีข้อที่อยากฝากถึงเพื่อนรังสีแพทย์ว่าการตรวจ ultrasound นั้น จะมั่นใจว่าปกติก็ต่อเมื่อได้ทำทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ ในการเตรียมผู้ป่วยก่อนการตรวจต้องให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายมี hydration ที่ดี มี renal perfusion พอ มิฉะนั้นอาจจะทำให้การประเมินระดับของ hydronephrosis ต่ำกว่าความเป็นจริง  การตรวจก็ต้องเลือกหัวตรวจที่มีขนาดและความถี่ที่เหมาะกับขนาดตัวเด็ก เมื่อตรวจก็ต้องตรวจทางเดินปัสสาวะทุกส่วนอย่างละเอียด และในบางรายอาจต้องดูถึง internal genital organ ด้วย เพราะระบบ genital และ urinary tract มีความสัมพันธ์กัน

ข้อมูลและภาพโดย : ปานฤทัย ตรีนวรัตน์, พ.บ.

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย

ใครคือนักฟิสิกส์การแพทย์ :

ฟิสิกส์การแพทย์ (Medical physics) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่เน้นการประยุกต์ใช้กระบวนการทางฟิสิกส์เพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยนักฟิสิกส์การแพทย์เองมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการปฏิบัติงานทางรังสีวิทยาในทุกๆด้าน ได้แก่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

นักฟิสิกส์การแพทย์คือผู้ที่จบปริญญาโท หรือ ปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์การแพทย์ และผ่านการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกทางรังสีวิทยาทั้งสามสาขาดังกล่าวข้างต้น

ในงานรังสีวิทยา นักฟิสิกส์การแพทย์จะร่วมทำงานกับรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิคและพยาบาล โดยทำงานเป็นทีมเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยคือมาตรฐานการบริการทางรังสีวิทยาที่ได้มาตรฐานสากล

บทบาทของนักฟิสิกส์การแพทย์ในงานภาพรังสีวินิจฉัย:

การที่จะได้มาซึ่งภาพถ่ายทางรังสีที่มีคุณภาพ ผู้เข้ารับบริการได้รับความมั่นใจว่าได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสม ตลอดจนโรงพยาบาลมีความมั่นใจว่าเครื่องมือที่มีความทันสมัยและมีราคาแพงได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น งานทางด้านฟิสิกส์การแพทย์มีบทบาทอย่างสูง โดยนักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมด้านฟิสิกส์การแพทย์เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการดังกล่าวข้างต้นผ่านกิจกรรมทางการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพทางรังสีวิทยา โดยการประกันคุณภาพและการควบคุมคุณภาพในงานรังสีวิทยานี้มักจะถูกจัดให้อยู่ในระดับความสำคัญสูงจากหน่วยงานประเมินคุณภาพต่างๆทั้งในระดับชาติ และในระดับสากล

นักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้สร้างความมั่นใจว่าภาพทางรังสีที่ได้มีมาตรฐานสากล ผู้เข้ารับบริการได้รับปริมาณรังสีที่ได้รับความเสี่ยงน้อยที่สุด ตลอดจนเป็นผู้บริหารงานด้านคุณภาพของเครื่องมือถ่ายภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีความรับผิดชอบในงานทางด้านการควบคุมคุณภาพของภาพทางการแพทย์ การตรวจวัดปริมาณเชิงฟิสิกส์จากเครื่องมือที่ใช้ การวัดปริมาณเชิงชีวฟิสิกส์ที่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของผู้ป่วย การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีและการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งชนิดก่อประจุ และไม่ก่อประจุที่ใช้ในงานรังสีวินิจฉัย

ภาพของงานบริการทางฟิสิกส์การแพทย์ :

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 20

นักฟิสิกส์การแพทย์กำลังใช้หุ่นจำลองในการประเมินคุณภาพของภาพรังสีที่ได้จากเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และทำการประเมินปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาปรับเทคนิคการถ่ายภาพให้ได้ภาพที่ดีที่สุดโดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 21

นักฟิสิกส์การแพทย์กำลังทำการประเมินคุณภาพเชิงฟิสิกส์ของเครื่องถ่ายภาพรังสีระบบคอมพิวเตอร์

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 22

นักฟิสิกส์การแพทย์ร่วมกับวิศวกรทำการตรวจสอบการทำงานของเครื่องถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยรังสีโพสิตรอน

สรุป:

คุณภาพที่ดีของงานบริการทางรังสีวิทยาไม่ว่าจะเป็นด้านภาพรังสีเพื่อการวินิจฉัยหรือรังสีรักษามักขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากงานด้านฟิสิกส์การแพทย์ ในบริการด้านภาพรังสีเพื่อการวินิจฉัย นักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการประกันคุณภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ยังผลให้การวินิจฉัยโดยรังสีแพทย์มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนผู้เข้ารับบริการได้รับปริมาณรังสีอันอาจก่ออันตรายในระดับที่เหมาะสม และมีการใช้เครื่องถ่ายภาพทางรังสีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โปรแกรมการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบประกันคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ บริการด้านฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้คุณภาพการบริการด้านรังสีวิทยาของโรงพยาบาลอยู่ในระดับมาตรฐานสากลโดยที่ผู้เข้ารับบริการได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อมูลและภาพโดย : ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์