logo-ราชวิลัยรังสีแพท

รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

RADIOLOGICAL SOCIETY OF THAILAND

จำนวนสมาชิกปัจจุบัน

radiologythailand member

มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม?

infographic มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 3 รูปแบบ

การให้ข้อมูล ให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้ป่วย แก่ผู้บริการ มีความสำคัญ

วันนี้ ขอนำเสนอ

รูปแบบการให้ข้อมูลผู้ป่วย ผู้รับบริการ แบบโปสเตอร์ infographic

เรื่อง มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม?

เนื้อหา ใกล้เคียงกัน รูปแบบคล้ายๆกัน 3 รูปแบบ

ชอบแบบไหน ก็ นำไปใช้ได้

โอกาสพัฒนา มีทุกวัน ครับ

 
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 1
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 2
มารู้จัก การถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ กันดีไหม? 3

แสงที่ตามองเห็น (visible light) กับ รังสีเอกซ์ (x-ray)

  รังสีเอกซ์ ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยการฉายรังสีเอกซ์ที่มีอำนาจในการทะลุทะลวงผ่านเนื้อเยื่อ ในร่างกายไปกระทบกับอุปกรณ์รับภาพ แล้วผ่านขบวนการสร้างให้เป็น ภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่า… มีความจำเป็น ต้องใช้รังสี เพราะ แพทย์พิจารณาว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงภัยของรังสีที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย  

ท่านทราบหรือไม่? ว่า…

แสงที่ตามองเห็นกับรังสีเอกซ์

มีอะไรที่เหมือนกัน มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง ครับ

Download PDF

 
แสงที่ตามองเห็น (visible light) กับ รังสีเอกซ์ (x-ray) 4

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี

1. รังสี  (Radiation) คืออะไร

รังสี คือ พลังงานหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิด ซึ่งมีความถี่และความยาวคลี่นต่างๆกัน เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง  รังสีเอกซ์  รังสีแกมมา โดยมีการแบ่งหลายๆแบบตามลักษณะต่างๆกัน เช่น แบบที่มองเห็น และ มองไม่เห็น  แบบก่อประจุ และ ไม่ก่อประจุ   ซึ่งรังสีที่เราสัมผัสโดยทั่วไป  ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดรังสีจากธรรมชาติ และแหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น

  • รังสีจากธรรมชาติ ( Natural Radiation Sources ) ประมาณ 82%  โดยปกติก็มีรังสีโดยธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เช่น รังสี cosmic จากอวกาศ   รังสีจากสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ จากผิวดิน ถึง อากาศ  ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่จะมีปริมาณต่างๆกัน  
  • รังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man Made Radiation Sources)  ประมาณ18% เช่น รังสีทางการแพทย์ ( รังสีเอกซ์)  เวชศาสตร์นิวเคลียร์  จากเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น
  • อื่นๆ น้อยกว่า 1%
โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 5

2. การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (Diagnostic radiology, X-ray)

รังสีเอกช์  (X-ray)  เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และ เป็นแบบก่อประจุ (Ionizing radiation)  แต่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทะลุทะลวงผ่านวัตถุ รวมถึง อวัยวะต่างๆของร่างกายไม่เท่ากัน  ทำให้สามารถมองเห็นภาพของอวัยวะภายในได้ จึงนำมาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยทางการแพทย์

การตรวจวินิจฉัยทางรังสี อาทิเช่น เอกซเรย์ทั่วไป ( General X-ray) เอกซเรย์พิเศษ ( ระบบทางเดินอาหาร , ไขสันหลัง,ทางเดินปัสสาวะ) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT – Scan) จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคต่างๆได้  นอกจากนี้เอกชเรย์ ยังช่วยให้เห็นอวัยวะภายในเพื่อการวางท่อระบายต่างๆ  รวมทั้ง ใข้ในการร่วมรักษาทางหลอดเลือดต่างๆ (Intervention)

3. การวัดปริมาณทางรังสี (Measuring Radiation Dosage)

การวัดปริมาณทางรังสีนิยมใช้ค่า Effective dose หมายถึง ปริมาณรังสีที่อวัยวะต่างๆได้รับ มีหน่วยเป็น Millisievert (mSv)  นอกจากนี้ยังมีหน่วยวัดทางรังสีอื่นๆ เช่น  Rad, Rem, Roentgen, Gray เป็นต้น

เนื่องจากเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ มีความไวต่อรังสีได้แตกต่างกัน  ปริมาณรังสีสะสมในแต่ละส่วนของร่างกายจึงแตกต่างกัน   ในแง่ของ Effective dose ที่ใช้ จะแสดงถึงปริมาณรังสีเฉลี่ยของทั้งร่างกาย (average the entire body)

ค่า Effective dose จะช่วยเปรียบเทียบความไวต่อรังสีของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ    นอกจากนี้ยังใช้เป็นค่าเปรียบเทียบรังสีจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ รังสีตามธรรมชาติ (Natural background radiation) จนถึง รังสีทางการแพทย์(Radiography medical Procedure)  ตัวอย่างเช่น  เปรียบเทียบปริมาณรังสีในการเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง จะเทียบเท่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมประมาณ 10 วัน

4. Effective Radiation Dose ในผู้ใหญ่

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 6

* ปริมาณรังสีเป็นค่าเฉลี่ยในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจแตกต่างกัน ตามขนาดของร่างกาย และ เทคนิคการตรวจในแต่ละสถานที่

นอกจากนี้ ปริมาณรังสีในเด็ก จะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากขนาดของร่างกาย และ ความไวต่อรังสีไม่เท่ากัน

** ตารางอธิบายเพิ่มเติม

โอกาสเกิดมะเร็ง กับ การตรวจวินิจฉัยทางรังสี 7

5. สรุป  โอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจากการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ถือว่าน้อยมาก  เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการวินิจฉัยโรค   แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงความจำเป็น และ ความสมเหตุสมผลในการส่งตรวจ  การควบคุมปริมาณรังสีและขอบเขตของรังสีระหว่างการตรวจ   การใช้ปริมาณรังสีให้ต่ำที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ตามหลักการ  ALARA (As Low As Reasonably Achievable)  นอกจากนี้ ควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ และ เด็ก

เอกสารอ้างอิง และ แนะนำอ่านเพิ่มเติม

  1. http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=safety-xray
  2. ICRP Publication 103: The 2007 Recommendations of the International Commission on Radiological Protection
  3. The American Association of Physicists in Medicine Response in Regards to CT Radiation Dose and its Effects

ข้อมูลและภาพโดย : พญ.อรอวรรณ อุตราวิสิทธิกุล

รังสีแพทย์คือใคร

รังสีแพทย์ (radiologist) เป็นแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านรังสีวิทยา เชี่ยวชาญในด้านการวินิจฉัยโรคโดยอาศัยภาพวินิจฉัย (imaging) เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพ็ท (PET) และการรักษาโรคโดยใช้ภาพวินิจฉัยนำทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เนื่องจากภาพวินิจฉัยบางชนิดใช้รังสีเอ็กซ์ในการสร้างภาพ ดังนั้น รังสีแพทย์จึงได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจและปรับใช้รังสีเอ็กซ์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากรังสีเอ็กซ์ด้วย

รังสีแพทย์จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เช่นเดียวกับแพทย์สาขาอื่นๆ ผ่านการฝึกปรือวิชาความรู้ในระบบสาธารณสุขในสถานพยาบาล 1-3 ปีก่อนเข้ามาเรียนต่อเฉพาะทางด้านรังสีวิทยาเป็นเวลาอีก 3 ปี เพื่อให้ได้รับวุฒิบัตรเชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัยหรือรังสีวิทยาทั่วไปจากแพทยสภา รวมแล้วใช้เวลาอย่างต่ำ 10 ปีกว่าจะเป็นรังสีแพทย์

รังสีแพทย์ส่วนหนึ่งยังศึกษาต่อยอดอีก 1-2 ปี เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรสาขาเฉพาะทางแนวลึก ซึ่งมีอยู่หลากหลายสาขา ล้วนได้รับการรับรองจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยหรือแพทยสภา

รังสีแพทย์ช่วยอะไรท่าน

  • เป็นที่ปรึกษาของแพทย์ที่ดูแลท่าน โดยรังสีแพทย์ช่วยแพทย์ที่ดูแลท่านตัดสินใจเลือกการตรวจภาพวินิจฉัยที่เหมาะสมสำหรับท่าน แปลผลภาพวินิจฉัยเพื่อให้ท่านได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำ
  • รักษาโรคโดยใช้เทคนิกภาพวินิจฉัยนำทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เรียกสาขานี้ว่า interventional radiology
  • เปรียบเทียบภาพวินิจฉัยกับการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิกอื่นๆ เพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำ
  • แนะนำวิธีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ และการรักษาที่อาจเหมาะสม ผ่านแพทย์ที่ดูแลท่าน
  • ควบคุมดูแลและตรวจสอบงานของนักรังสีการแพทย์ที่ถ่ายภาพวินิจฉัยของท่าน

รังสีแพทย์ได้รับการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ในการให้การวินิจฉัยโดยใช้ภาพวินิจฉัย

เวลาที่แพทย์ที่ดูแลท่าน บอกท่านว่าได้ตรวจดูภาพวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว เขามักหมายถึงว่าเขาได้ตรวจดูรายงานผลการตรวจภาพวินิจฉัย (radiology report) หรือได้ดูภาพร่วมกับรังสีแพทย์แล้ว

รังสีแพทย์เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพวินิจฉัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CT, MRI, PET และการตรวจภาพวินิจฉัยที่รวมหลายเทคนิกเข้าด้วยกัน เช่น PET-CT เป็นต้น นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญด้านการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การรักษาหลอดเลือดโป่งพอง มะเร็งบางชนิดและการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย

รังสีแพทย์ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา บ่งบอกถึงคุณภาพ ความสามารถและเชียวชาญในเนื้องานในระดับสูง

รังสีแพทย์คือใคร 8

ข้อมูลและภาพโดย : น.พ. รัฐชัย แก้วลาย หน่วยภาพวินิจฉัยฉุกเฉิน ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ

แนวทางการตรวจทางรังสีวิทยาในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน

พวกเรารังสีแพทย์ที่จบมาหลายปีแล้วทราบหรือไม่คะว่า แนวทางการตรวจทางรังสีวิทยาในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้วนะคะ

ที่เคยทราบกันมาแต่เดิมและมีในตำราทุกฉบับก็คือ vesicoureteral reflux เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ไตมีปัญหาในระยะยาว  ต้องส่งตรวจ voiding cystourethrography  และถ้าพบว่ามี vesicoureteral reflux ก็ต้องมีการรักษา โดยถ้า reflux เป็นระดับไม่รุนแรงก็ให้กินยาปฏิชีวนะแบบป้องกันการติดเชื้อ ถ้าเป็นระดับรุนแรงต้องผ่าตัด

ข้อมูลจากรายงานวิจัยในระยะหลังกลับพบว่า vesicoureteral reflux ที่ระดับ 1 ถึงระดับ 4 นั้น การให้ยาปฏิชีวนะระยะยาวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ได้ให้ผลดีกว่าการไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ จึงมีหลายสถาบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ลดการตรวจ voiding cystourethrography ลงในเด็กที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนที่มีผลการตรวจ ultrasound KUB ปกติ

ในปลายปี พ.ศ.2554 มีการตีพิมพ์ clinical practice guideline (CPG) ของกุมารแพทย์ ว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อครั้งแรกของทางเดินปัสสาวะส่วนบนในทารกและเด็กเล็กที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส (อายุช่วง 2 เดือนถึง 24 เดือน) CPG นี้ประกาศโดย American Academy of Pediatrics  เนื่องจากแพทย์ไทยส่วนใหญ่ศึกษาและใช้ guideline ตามของประเทศสหรัฐอเมริกา  ทำให้กุมารแพทย์ในประเทศไทยเปลี่ยนแนวทางการส่งตรวจทางรังสีวิทยาตาม CPG ของ American Academy of Pediatrics

Guideline ดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเมินความน่าจะเป็นว่าทารกมีไข้จากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนโอกาสมากหรือน้อย แล้วจึงจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะซึ่งต้องเป็นจากใส่สายสวนหรือใช้เข็มเจาะเหนือหัวเหน่าเข้ากระเพาะปัสสาวะ (ไม่ใช่ปิดถุงเก็บปัสสาวะที่ perineum) และจะให้การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน เมื่อผล urine analysis พบ pyuria หรือเมื่อ urine culture ได้เชื้อชนิดเดียวมากกว่า 50,000 colonies ต่อมิลลิลิตร

หลังจากวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนชัดเจนแล้ว แพทย์จึงส่งตรวจ ultrasound KUB เพื่อหาความผิดปกติทางกายวิภาคของทางเดินปัสสาวะที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ  ถ้าการตรวจ ultrasound ให้ผลปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจ voiding cystourethrography ในกรณีเป็นการติดเชื้อครั้งแรกของทางเดินปัสสาวะส่วนบน

แต่ถ้าผลการตรวจ ultrasound ผิดปกติ ได้แก่ พบ hydronephrosis  มีแผลเป็นที่ไต หรือพบความผิดปกติอื่นที่บ่งว่ามี vesicoureteral reflux ในระดับที่รุนแรง หรือในผู้ป่วยที่มีสภาพทางคลินิกที่ซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำและมีไข้ (recurrent febrile UTI) ก็จะส่งตรวจ voiding cystourethrography เพื่อตรวจหาและบอกระดับความรุนแรงของ vesicoureteral reflux เพื่อให้การรักษาต่อไป

สรุปคือ ทารกและเด็กเล็กอายุ 2 เดือนถึง 2 ปีที่มี febrile UTI เป็นครั้งแรก ให้ส่งตรวจ  ultrasound   ถ้าผล ultrasound ปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจ voiding cystourethrography  อ่านรายละเอียดของ guideline ได้จาก www.pediatrics.org/cgi/doi/10.1542/peds.2011-1330

สุดท้ายมีข้อที่อยากฝากถึงเพื่อนรังสีแพทย์ว่าการตรวจ ultrasound นั้น จะมั่นใจว่าปกติก็ต่อเมื่อได้ทำทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ ในการเตรียมผู้ป่วยก่อนการตรวจต้องให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายมี hydration ที่ดี มี renal perfusion พอ มิฉะนั้นอาจจะทำให้การประเมินระดับของ hydronephrosis ต่ำกว่าความเป็นจริง  การตรวจก็ต้องเลือกหัวตรวจที่มีขนาดและความถี่ที่เหมาะกับขนาดตัวเด็ก เมื่อตรวจก็ต้องตรวจทางเดินปัสสาวะทุกส่วนอย่างละเอียด และในบางรายอาจต้องดูถึง internal genital organ ด้วย เพราะระบบ genital และ urinary tract มีความสัมพันธ์กัน

ข้อมูลและภาพโดย : ปานฤทัย ตรีนวรัตน์, พ.บ.

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย

ใครคือนักฟิสิกส์การแพทย์ :

ฟิสิกส์การแพทย์ (Medical physics) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่เน้นการประยุกต์ใช้กระบวนการทางฟิสิกส์เพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยนักฟิสิกส์การแพทย์เองมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการปฏิบัติงานทางรังสีวิทยาในทุกๆด้าน ได้แก่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

นักฟิสิกส์การแพทย์คือผู้ที่จบปริญญาโท หรือ ปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์การแพทย์ และผ่านการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกทางรังสีวิทยาทั้งสามสาขาดังกล่าวข้างต้น

ในงานรังสีวิทยา นักฟิสิกส์การแพทย์จะร่วมทำงานกับรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิคและพยาบาล โดยทำงานเป็นทีมเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยคือมาตรฐานการบริการทางรังสีวิทยาที่ได้มาตรฐานสากล

บทบาทของนักฟิสิกส์การแพทย์ในงานภาพรังสีวินิจฉัย:

การที่จะได้มาซึ่งภาพถ่ายทางรังสีที่มีคุณภาพ ผู้เข้ารับบริการได้รับความมั่นใจว่าได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสม ตลอดจนโรงพยาบาลมีความมั่นใจว่าเครื่องมือที่มีความทันสมัยและมีราคาแพงได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น งานทางด้านฟิสิกส์การแพทย์มีบทบาทอย่างสูง โดยนักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมด้านฟิสิกส์การแพทย์เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการดังกล่าวข้างต้นผ่านกิจกรรมทางการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพทางรังสีวิทยา โดยการประกันคุณภาพและการควบคุมคุณภาพในงานรังสีวิทยานี้มักจะถูกจัดให้อยู่ในระดับความสำคัญสูงจากหน่วยงานประเมินคุณภาพต่างๆทั้งในระดับชาติ และในระดับสากล

นักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้สร้างความมั่นใจว่าภาพทางรังสีที่ได้มีมาตรฐานสากล ผู้เข้ารับบริการได้รับปริมาณรังสีที่ได้รับความเสี่ยงน้อยที่สุด ตลอดจนเป็นผู้บริหารงานด้านคุณภาพของเครื่องมือถ่ายภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีความรับผิดชอบในงานทางด้านการควบคุมคุณภาพของภาพทางการแพทย์ การตรวจวัดปริมาณเชิงฟิสิกส์จากเครื่องมือที่ใช้ การวัดปริมาณเชิงชีวฟิสิกส์ที่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของผู้ป่วย การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีและการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งชนิดก่อประจุ และไม่ก่อประจุที่ใช้ในงานรังสีวินิจฉัย

ภาพของงานบริการทางฟิสิกส์การแพทย์ :

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 9

นักฟิสิกส์การแพทย์กำลังใช้หุ่นจำลองในการประเมินคุณภาพของภาพรังสีที่ได้จากเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และทำการประเมินปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาปรับเทคนิคการถ่ายภาพให้ได้ภาพที่ดีที่สุดโดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 10

นักฟิสิกส์การแพทย์กำลังทำการประเมินคุณภาพเชิงฟิสิกส์ของเครื่องถ่ายภาพรังสีระบบคอมพิวเตอร์

นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย 11

นักฟิสิกส์การแพทย์ร่วมกับวิศวกรทำการตรวจสอบการทำงานของเครื่องถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยรังสีโพสิตรอน

สรุป:

คุณภาพที่ดีของงานบริการทางรังสีวิทยาไม่ว่าจะเป็นด้านภาพรังสีเพื่อการวินิจฉัยหรือรังสีรักษามักขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากงานด้านฟิสิกส์การแพทย์ ในบริการด้านภาพรังสีเพื่อการวินิจฉัย นักฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการประกันคุณภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ยังผลให้การวินิจฉัยโดยรังสีแพทย์มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนผู้เข้ารับบริการได้รับปริมาณรังสีอันอาจก่ออันตรายในระดับที่เหมาะสม และมีการใช้เครื่องถ่ายภาพทางรังสีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โปรแกรมการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบประกันคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ บริการด้านฟิสิกส์การแพทย์จะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้คุณภาพการบริการด้านรังสีวิทยาของโรงพยาบาลอยู่ในระดับมาตรฐานสากลโดยที่ผู้เข้ารับบริการได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อมูลและภาพโดย : ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์

เครื่องมือทางรังสีวิทยา

เมื่อกล่าวถึงแผนกรังสีวิทยา คนทั่วไปอาจนึกถึงภาพเอกซเรย์ปอดที่เคยถ่ายตอนตรวจสุขภาพประจำปี หรือสัญลักษณ์รังสีรูปใบพัดซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่กำหนดขึ้นเพื่อเตือนให้ทราบว่ามีรังสีหรือให้ระวังรังสี ซึ่งรังสีที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ได้แก่รังสีเอกซ์ แผนกรังสีวิทยาแต่เดิมจึงมักมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแผนกเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม นอกจากรังสีเอกซ์แล้ว ในทางการแพทย์ปัจจุบันซึ่งมีการแบ่งสาขาของวิชารังสีวิทยาออกเป็น ๓​ สาขา ได้แก่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา(และมะเร็งวิทยา) และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ยังมีการใช้รังสีชนิดอื่น หรือคลื่นพลังงานอย่างอื่นมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคด้วย เช่น รังสีแกมมา รังสีบีตา รังสีแอลฟา คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

เครื่องมือทางรังสีวิทยา จึงไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้หรือให้กำเนิดรังสีเอกซ์เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องมืออีกหลายประเภทที่ถือเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา ซึ่งอาจแบ่งตามสาขาวิชา ๓ สาขาได้ดังนี้

1. รังสีวินิจฉัย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ใช้รังสีเอกซ์ ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป (General X-ray Machine) เครื่องเอกซเรย์ฟัน (Dental X-ray Machine) เครื่องเอกซเรย์เต้านม (X-ray Mammography) เครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือด (Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Machine) เครื่องส่องตรวจทางรังสี (Fluoroscopy X-ray Machine)

เครื่องมือที่ไม่ได้ใช้รังสีเอกซ์ ได้แก่ เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Diagnostic Ultrasound Machine) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI-Magnetic Resonance Imaging Machine)

2. รังสีรักษา ได้แก่ เครื่องฉายเอกซเรย์ชนิดตื้นและชนิดลึก (Superficial and Orthovoltage or Deep X-ray Therapy Machine) เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-๖๐ (Cobalt-60 Teletherapy Machine) เครื่องเร่งอนุภาคที่ผลิตเฉพาะโฟตอนพลังงานไม่เกิน ๖ MV (Low Energy Medical Linear Accelerator) เครื่องเร่งอนุภาคที่ผลิตเฉพาะโฟตอนพลังงานมากกว่า ๖ MV หรือผลิตลำอิเล็กตรอนร่วมด้วย (High Energy Medical Linear Accelerator) เครื่องฉายรังสีแกมมาไนฟ์ (Gamma Knife Machine) เครื่องฉายรังสีไซเบอร์ไนฟ์ (Cyber Knife Machine) เครื่องจำลองการรักษาแบบทั่วไป (Conventional Simulator) เครื่องจำลองการรักษาแบบคอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Simulator)  เครื่องสอดใส่สารกัมมันตรังสีชนิดอัตราปริมาณรังสีต่ำ และชนิดอัตราปริมาณรังสีสูง (Low Dose Rate and High Dose Rate Remote Control After Loading Brachytherapy System)

3. เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้แก่ เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometer)  เครื่อง สอบเทียบความแรงของสารกัมมันตรังสี (Dose Calibrator) เครื่องนับวัดปริมาณรังสี (Radiation Counter) เครื่องถ่ายภาพรังสีชนิดแถว (Rectilinear Scanner) เครื่องถ่ายภาพรังสีแกมมา (Gamma Camera) เครื่อง ถ่ายภาพรังสีแกมมาหลายระนาบ (Single Photon Emission Computed Tomography-SPECT) เครื่องถ่าย ภาพรังสีจากอนุภาคโพสิตรอนหลายระนาบ (Positron Emission Tomography-PET)       

อนึ่ง การเรียกชื่อเครื่องมือหรืออุปกรณ์แต่ละประเภท อาจมีความแตกต่างในแต่ละสถานที่หรือสถาบัน เช่น Magnetic Resonance Imaging Machine มีผู้ใช้ทั้งเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องตรวจด้วย สนามแม่เหล็กแรงสูง เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่องตรวจวินิจฉัยพลังแม่เหล็ก ชื่อที่กล่าวถึงในบทความนี้อ้างอิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งถือเป็นเอกสารทางการเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้

เครื่องมือทางรังสีวิทยา 12

เอกสารอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา พ.ศ.๒๕๔๙ ราชกิจจานุเบกษา
ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๐๐ง วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ 

ข้อมูลและภาพโดย : พญ.กฤษณา ดิสนีเวทย์ 

ความปลอดภัยจากรังสี

ความปลอดภัยจากรังสี 13

มนุษย์ได้เรียนรู้และรู้จักผลกระทบของรังสีต่อระบบชีวภาพเกิดขึ้นต่อตัวมนุษย์เองนานแล้วตั้งแต่การค้นพบรังสีเอกซเรย์โดย ดอกเตอร์วิลเฮม คอนราด เรินท์เก้น  (Wilhelm Conrad Roentgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งค้นพบเอกซเรย์เป็นคนแรกในปี ค.ศ.1895  และได้ทำให้ภรรยาเป็นมะเร็งจากการเพียรทดลองค้นคว้าหาคำตอบให้แก่ชาวโลก ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็ค้นพบสารกัมมันตภาพรังสี เช่น มาดามแมรี่ คูรี่ และลูกสาว (ไอรีน) ก็ได้ทดลองด้วยการใช้สารกัมมันตรังสีจนในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว นับจากนั้นเป็นต้นมา จุดเริ่มต้นของความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของรังสีที่มีต่อสิ่งมีชีวิตก็มีมากขึ้นและได้มีการพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ประเทศไทยก็มีเรื่องราวที่เป็นอุบัติเหตุจากความไม่รู้ของคนเก็บขยะ (ซาเล้ง) ได้เก็บเศษเหล็กจากเศษวัตถุที่มีสารกัมมันตภาพรังสีโคบอล 60 ของทางบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งกำจัดไม่ถูกวิธีมาแกะออกขายและได้ตกเป็นเหยื่อได้รับสารกัมมันตภาพรังสีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้มนุษย์ก็จะยิ่งใกล้ชิดกับสารกัมมันภาพรังสีและการใช้ประโยชน์จากรังสีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีความรู้เรื่องความปลอดภัยจากรังสีอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

การนำรังสีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในทางการแพทย์ เช่น ช่วยในการวินิจฉัยโรค การรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้องจึงควรมีความเข้าใจเรื่อง ความปลอดภัยจากรังสี ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ระดับรังสี” ที่ได้รับว่าอยู่ในระดับใดจึงจะถือว่าปลอดภัยนอกจากผลกระทบของเอกซเรย์ดังกล่าวแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น โดยเฉพาะในการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจในแต่ละครั้งมากกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา

ผู้รับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยควรปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ด้วยข้อเท็จจริงว่า มนุษย์เรายังได้รับรังสีมาจากด้านอื่นๆ อยู่ด้วยทุกวันเพราะในธรรมชาติก็มีรังสีอยู่แล้ว (การไปทำเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง  ก็เทียบได้กับคนเราได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ในระยะเวลา 10 วัน (ประมาณ 20 มิลลิเร็ม) ) และยังได้รับรังสีจากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์อีกด้วย   เราควรจึงต้องพยายามให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทางปฏิบัติแล้วผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีจะยึดหลักการใช้รังสีน้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ป่วย  จึงมีกำหนดข้อปฏิบัติบางประการ ดังนี้

  1.  ปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์และรังสีเทคนิคอย่างเคร่งครัด เช่น  การถ่ายภาพปอด ต้องเปลี่ยนเสื้อ ถอดสร้อยหรือโลหะทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณหน้าอกออกให้หมดเพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ การตรวจพิเศษต่างๆ ทางรังสี เช่น การฉีดสีตรวจระบบขับถ่ายปัสสาวะ (IVP) ถ้าไม่รับประทานยาระบาย อาจมีอุจจาระมาบังส่วนของไต ก็ทำให้มองเห็นไตไม่ชัด ต้องถ่ายภาพรังสีซ้ำอีก การถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก  แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ที่จะแนะนำเทคนิค ท่าทางและวิธีการต่างๆ ขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย เพื่อที่ภาพจะได้มีความชัดเจนชัดเจน   ส่วนการตรวจพิเศษทางรังสีต่างๆ ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกัน
  2. สตรีวัยเจริญพันธุ์ ถ้าต้องทำการตรวจทางเอกซเรย์ของท้องน้อย ควรทำภายใน 10 วัน หลังจากมีประจำเดือน (นับจากวันที่ 1 ของรอบประจำเดือน) ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีไข่ตก
  3. ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ช่วงท้อง ถ้าจำเป็นควรใช้อัลตราซาวด์แทน การเอกซเรย์ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถ้าจำเป็นต้องใช้เสื้อตะกั่วปิดบริเวณท้อง (ทารกในครรภ์) เสมอ
  4.  กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เอง ต้องมีผู้ช่วยเป็นญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายอื่น ควรปฏิบัติ ดังนี้ 
    1. ​​​4.1   สวมเสื้อตะถั่ว ถุงมือตะกั่วทุกครั้งที่เข้าช่วยจับผู้ป่วย 
    2. 4.2   ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่ห่างจากแนวทิศทางของรังสีหรือแหล่งกำเนิดรังสีอย่างน้อง 2 เมตร กรณีนี้รวมถึงการถ่ายเอกซเรย์เคลื่อนที่ในหอผู้ป่วยด้วย 
  5. ผู้ป่วยเด็กที่ต้องเอกซเรย์บ่อย ๆ ควรใช้แผ่นตะกั่วปิดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ (Gonad shield) 
  6. ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอกซเรย์ ไม่ควรเข้ามาในบริเวณรังสีโดยไม่จำเป็น

สัญญลักษณ์บริเวณรังสี  (ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ควรเข้าไปหากไม่มีความจำเป็น)

ความปลอดภัยจากรังสี 14

หลักการของความปลอดภัยจากรังสี  3 ประการ ได้แก่

  1. เวลา (Time) ใช้ระยะเวลาในการอยู่กับรังสีให้น้อยที่สุด เช่น ช่วยเตรียมพร้อมผู้ป่วยให้ดีเมื่อต้องเข้ารับการตรวจทางรังสี เพื่อไม่ให้เกิดการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำ
  2. ระยะทาง (Distance) อยู่ห่างจากจุดกำเนิดของรังสีในระยะที่ปลอดภัย  ยิ่งอยู่ห่างออกไปก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้น
  3. เครื่องกำบัง (Shielding) เนื่องจากรังสีเดินทางเป็นเส้นตรงและดูดซับด้วยวัตถุที่กำบังรังสีได้ จึงต้องอยู่ในที่กำบัง ใส่เสื้อตะกั่ว แว่นตาตะกั่ว ปิดต่อมไทรอยด์หรืออวัยวะสืบพันธุ์ด้วยเครื่องป้องกันที่ทำด้วยแผ่นตะกั่ว

ทั้งนี้ โอกาสเกิดโรคมะเร็งจากการตรวจโรคด้วยการถ่ายภาพรังสี (หรือเอกซเรย์) ก็พบได้น้อยมากๆ จนไม่จำเป็นต้องกังวล และเป็นที่ยอมรับของทางการแพทย์ทั่วโลกว่า การเอกซเรย์ทั้งเอกซเรย์ธรรมดาและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลพินิจของแพทย์ การถ่ายภาพรังสีได้ก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมากมายมากกว่าการเกิดโทษ     

ข้อมูลและภาพโดย : น.ส.อำไพ อุไรเวโรจนากร ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีทันสมัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เครื่องเพทซีทีสแกน (PET/CT scan)

อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น  ซึ่งส่วนที่สำคัญในการวินิจฉัยที่รวดเร็วนั้น มาจากเทคโนโลยีทางรังสีวิทยาที่มีการพัฒนาไปอย่างมาก  ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีใหม่ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือ การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพทซีทีสแกน (PET/CT Scan : Positron Emission Tomography/ Computed Tomography) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพรังสีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาก มีความไวและความแม่นยำสูงในการตรวจวินิจฉัยโรค  จึงถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการตรวจรักษาผู้ป่วย และช่วยในเรื่องการศึกษาและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆทางการแพทย์ ในปัจจุบันกว่า 90% ของเครื่อง PET/CT scan จะถูกใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง บอกความรุนแรงการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเพราะสามารถตรวจทั้งร่างกายได้ในครั้งเดียวกัน บอกการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และสามารถใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

เพทซีทีสแกนคืออะไร

เพทซีทีสแกน

ภาพแสดงเครื่อง เพทซีทีสแกน (PET/CT scan)

เครื่อง PET/CT สามารถตรวจหามะเร็งได้อย่างไร

เครื่อง PET CT สามารถตรวจหามะเร็ง

ก่อนที่จะทำการตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีสแกน (PET/CT scan) ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดดำ  โดยการให้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ชนิดพิเศษที่มีกัมมันตรังสีในตัวเองที่เรียกว่า เอฟดีจี (FDG : Fluorodeoxyglucose) น้ำตาลชนิดที่มีกัมมันตรังสีนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย  เนื่องจากเซลล์ในร่างกายของเราใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการสร้างพลังงาน  ดังนั้น เนื้อเยื่อที่มีการทำงานมาก  หรือแบ่งตัวมาก เช่น มะเร็ง จะจับน้ำตาลนี้ไว้ในปริมาณที่มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และเปล่งรังสีออกมา  ซึ่งเราสามารถเห็นความผิดปกติหรือรอยโรคได้จากการถ่ายภาพด้วยเครื่องตรวจเพทซีทีสแกน (PET/CT scan) ซึ่งภาพที่ได้จะถูกประมวลผลโดยแพทย์เฉพาะทาง  เพื่อให้การวินิจฉัยโรคต่อไป  สำหรับสารเภสัชรังสีที่ฉีดนั้นไม่มีอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากมีปริมาณรังสีต่ำมากมีครึ่งชีวิตสั้น และจะถูกขับออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะ

ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่อง PET/CT

  1. ให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรค และระยะของโรคที่ไม่สามารถบอกได้จากการตรวจอื่นๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT), เครื่องกำทอนแม่เหล็ก (MRI)
  2. บอกระยะของโรคมะเร็งได้ถูกต้องแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละราย ลดค่าใช้จ่าย และภาวะแทรกซ้อน จากการรักษาที่ไม่จำเป็น
  3. สามารถดูการกระจายของมะเร็งได้ทั้งตัวจากการตรวจครั้งเดียว
  4. สามารถตรวจหามะเร็งที่เหลืออยู่และการกลับเป็นซ้ำหลังการรักษา
  5. ให้การวินิจฉัยระยะของโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละราย
  6. เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. สามารถ ราชดารา http://haamor.com/th/PET-scan/
  2. สุภัทรพร  เทพมงคล https://www.doctor.or.th/clinic/detail/8334
  3. ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ http://www.cccthai.org/th/main/Cyclotron.htm
  4. http://www.jupitermed.com/pet-ct
  5. www.chulacancer.net/patient-knowledge-inner.php?id=138

 

ข้อมูลและภาพโดย : ดุสิต  หรุ่นโพธิ์ นักรังสีการแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์