logo-ราชวิลัยรังสีแพท

รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

RADIOLOGICAL SOCIETY OF THAILAND

จำนวนสมาชิกปัจจุบัน

radiologythailand member

ความปลอดภัยจากรังสี

ความปลอดภัยจากรังสี 1

มนุษย์ได้เรียนรู้และรู้จักผลกระทบของรังสีต่อระบบชีวภาพเกิดขึ้นต่อตัวมนุษย์เองนานแล้วตั้งแต่การค้นพบรังสีเอกซเรย์โดย ดอกเตอร์วิลเฮม คอนราด เรินท์เก้น  (Wilhelm Conrad Roentgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งค้นพบเอกซเรย์เป็นคนแรกในปี ค.ศ.1895  และได้ทำให้ภรรยาเป็นมะเร็งจากการเพียรทดลองค้นคว้าหาคำตอบให้แก่ชาวโลก ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็ค้นพบสารกัมมันตภาพรังสี เช่น มาดามแมรี่ คูรี่ และลูกสาว (ไอรีน) ก็ได้ทดลองด้วยการใช้สารกัมมันตรังสีจนในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว นับจากนั้นเป็นต้นมา จุดเริ่มต้นของความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของรังสีที่มีต่อสิ่งมีชีวิตก็มีมากขึ้นและได้มีการพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ประเทศไทยก็มีเรื่องราวที่เป็นอุบัติเหตุจากความไม่รู้ของคนเก็บขยะ (ซาเล้ง) ได้เก็บเศษเหล็กจากเศษวัตถุที่มีสารกัมมันตภาพรังสีโคบอล 60 ของทางบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งกำจัดไม่ถูกวิธีมาแกะออกขายและได้ตกเป็นเหยื่อได้รับสารกัมมันตภาพรังสีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้มนุษย์ก็จะยิ่งใกล้ชิดกับสารกัมมันภาพรังสีและการใช้ประโยชน์จากรังสีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีความรู้เรื่องความปลอดภัยจากรังสีอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

การนำรังสีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในทางการแพทย์ เช่น ช่วยในการวินิจฉัยโรค การรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้องจึงควรมีความเข้าใจเรื่อง ความปลอดภัยจากรังสี ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ระดับรังสี” ที่ได้รับว่าอยู่ในระดับใดจึงจะถือว่าปลอดภัยนอกจากผลกระทบของเอกซเรย์ดังกล่าวแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น โดยเฉพาะในการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจในแต่ละครั้งมากกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา

ผู้รับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยควรปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ด้วยข้อเท็จจริงว่า มนุษย์เรายังได้รับรังสีมาจากด้านอื่นๆ อยู่ด้วยทุกวันเพราะในธรรมชาติก็มีรังสีอยู่แล้ว (การไปทำเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง  ก็เทียบได้กับคนเราได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ในระยะเวลา 10 วัน (ประมาณ 20 มิลลิเร็ม) ) และยังได้รับรังสีจากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์อีกด้วย   เราควรจึงต้องพยายามให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทางปฏิบัติแล้วผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีจะยึดหลักการใช้รังสีน้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ป่วย  จึงมีกำหนดข้อปฏิบัติบางประการ ดังนี้

  1.  ปฏิบัติตามคำแนะนำของรังสีแพทย์และรังสีเทคนิคอย่างเคร่งครัด เช่น  การถ่ายภาพปอด ต้องเปลี่ยนเสื้อ ถอดสร้อยหรือโลหะทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณหน้าอกออกให้หมดเพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ การตรวจพิเศษต่างๆ ทางรังสี เช่น การฉีดสีตรวจระบบขับถ่ายปัสสาวะ (IVP) ถ้าไม่รับประทานยาระบาย อาจมีอุจจาระมาบังส่วนของไต ก็ทำให้มองเห็นไตไม่ชัด ต้องถ่ายภาพรังสีซ้ำอีก การถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก  แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ที่จะแนะนำเทคนิค ท่าทางและวิธีการต่างๆ ขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย เพื่อที่ภาพจะได้มีความชัดเจนชัดเจน   ส่วนการตรวจพิเศษทางรังสีต่างๆ ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกัน
  2. สตรีวัยเจริญพันธุ์ ถ้าต้องทำการตรวจทางเอกซเรย์ของท้องน้อย ควรทำภายใน 10 วัน หลังจากมีประจำเดือน (นับจากวันที่ 1 ของรอบประจำเดือน) ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีไข่ตก
  3. ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ช่วงท้อง ถ้าจำเป็นควรใช้อัลตราซาวด์แทน การเอกซเรย์ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถ้าจำเป็นต้องใช้เสื้อตะกั่วปิดบริเวณท้อง (ทารกในครรภ์) เสมอ
  4.  กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เอง ต้องมีผู้ช่วยเป็นญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายอื่น ควรปฏิบัติ ดังนี้ 
    1. ​​​4.1   สวมเสื้อตะถั่ว ถุงมือตะกั่วทุกครั้งที่เข้าช่วยจับผู้ป่วย 
    2. 4.2   ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่ห่างจากแนวทิศทางของรังสีหรือแหล่งกำเนิดรังสีอย่างน้อง 2 เมตร กรณีนี้รวมถึงการถ่ายเอกซเรย์เคลื่อนที่ในหอผู้ป่วยด้วย 
  5. ผู้ป่วยเด็กที่ต้องเอกซเรย์บ่อย ๆ ควรใช้แผ่นตะกั่วปิดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ (Gonad shield) 
  6. ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอกซเรย์ ไม่ควรเข้ามาในบริเวณรังสีโดยไม่จำเป็น

สัญญลักษณ์บริเวณรังสี  (ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ควรเข้าไปหากไม่มีความจำเป็น)

ความปลอดภัยจากรังสี 2

หลักการของความปลอดภัยจากรังสี  3 ประการ ได้แก่

  1. เวลา (Time) ใช้ระยะเวลาในการอยู่กับรังสีให้น้อยที่สุด เช่น ช่วยเตรียมพร้อมผู้ป่วยให้ดีเมื่อต้องเข้ารับการตรวจทางรังสี เพื่อไม่ให้เกิดการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำ
  2. ระยะทาง (Distance) อยู่ห่างจากจุดกำเนิดของรังสีในระยะที่ปลอดภัย  ยิ่งอยู่ห่างออกไปก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้น
  3. เครื่องกำบัง (Shielding) เนื่องจากรังสีเดินทางเป็นเส้นตรงและดูดซับด้วยวัตถุที่กำบังรังสีได้ จึงต้องอยู่ในที่กำบัง ใส่เสื้อตะกั่ว แว่นตาตะกั่ว ปิดต่อมไทรอยด์หรืออวัยวะสืบพันธุ์ด้วยเครื่องป้องกันที่ทำด้วยแผ่นตะกั่ว

ทั้งนี้ โอกาสเกิดโรคมะเร็งจากการตรวจโรคด้วยการถ่ายภาพรังสี (หรือเอกซเรย์) ก็พบได้น้อยมากๆ จนไม่จำเป็นต้องกังวล และเป็นที่ยอมรับของทางการแพทย์ทั่วโลกว่า การเอกซเรย์ทั้งเอกซเรย์ธรรมดาและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลพินิจของแพทย์ การถ่ายภาพรังสีได้ก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมากมายมากกว่าการเกิดโทษ     

ข้อมูลและภาพโดย : น.ส.อำไพ อุไรเวโรจนากร ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล